พระประวัติ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
(สุวฑฺฒนมหาเถร เจริญ คชวัตร)
เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร เป็น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ลุถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชยาวนานกว่าสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใด ๆ ในอดีตที่ผ่านมา คือ ๒๔ ปี
วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นวันคล้ายวันประสูติของเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชนมายุ ๑๐๐ พรรษาบริบูรณ์ นับเป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่เจริญพระชนมายุยิ่งยืนนานกว่าสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ใดๆ ในอดีตที่ผ่านมา ทั้งทรงดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ทางคณะสงฆ์ยาวนานกว่าพระองค์อื่น ๆ คือ ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ๒๕ ปี ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ๕๒ ปี นับเป็นบุญบารมีในทางปรหิตปฏิบัติของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งยากที่จะมีเป็น สาธารณะแก่บุคคลทั่วไป
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามเดิมว่า เจริญ นามสกุล คชวัตร ทรงมีพระชาติภูมิ ณ จังหวัดกาญจนบุรี ประสูติเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อพระชนมายุ ๑๔ พรรษา ณ วัดเทวสังฆาราม กาญจนบุรี แล้วเข้าไปอยู่ ศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จนพระชนมายุครบอุปสมบท จึงกลับไปอุปสมบทที่ วัดเทวสังฆาราม กาญจนบุรี และทรงจำพรรษา ณ วัดเทวสังฆาราม ๑ พรรษา แล้วจึงกลับไป ทรงทำทัฬหีกรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๖ โดย สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ประทับอยู่ ศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหารตลอดมา จนกระทั่งสอบได้เป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๔
เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ทรงดำรงสมณศักดิ์มาโดยลำดับดังนี้ ทรงเป็นพระราชาคณะ ชั้นสามัญ พระราชาคณะชั้นราช และพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ พระโศภนคณาภรณ์ ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมวราภรณ์ ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ พระสาสนโสภณ ทรงเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร และทรงได้รับพระราชทาน สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในราชทินนามที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ทรงเป็นผู้ใคร่ในการศึกษา ทรงมีพระอัธยาศัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนมา ตั้งแต่ทรงเป็นพระเปรียญ โดยเฉพาะในด้านภาษา ทรงศึกษาภาษาต่าง ๆ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน และ สันสกฤต จนสามารถใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดีกระทั่งเจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระอุปัชฌาย์ทรงเห็นว่า จะเพลินในการศึกษา มากไป วันหนึ่ง ทรงเตือนว่าควรทำกรรมฐานเสียบ้าง เป็นเหตุให้พระองค์ทรงเริ่มทำกรรมฐาน มาแต่บัดนั้น และทำตลอดมาอย่าง ต่อเนื่อง จึงทรงเป็นพระมหาเถระที่ทรงภูมิธรรม ทั้งด้านปริยัติและ ด้านปฏิบัติ
เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ทรงศึกษาหาความรู้สมัยใหม่อยู่เสมอ เป็นเหตุให้ทรงมีทัศนะ กว้างขวาง ทันต่อเหตุการณ์บ้านเมือง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสั่งสอนและเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นอย่างมาก และทรงนิพนธ์หนังสือทางพระพุทธศาสนาจำนวนมากได้อย่างสมสมัย เหมาะแก่ บุคคลและสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน และทรงสั่งสอนพระพุทธศาสนาทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่าง ประเทศ
ในด้านการศึกษา ได้ทรงมีพระดำริทางการศึกษาที่กว้างไกล ทรงมีส่วนร่วมในการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของไทย คือ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยมาแต่ต้น ทรงริเริ่มให้มีสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อฝึกอบรมพระธรรมทูตไทย ที่จะไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ ทรงเป็นพระมหาเถระไทยรูปแรก ที่ได้ดำเนินงานพระธรรมทูต ในต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยเริ่มจากทรงเป็นประธานกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระ ธรรมทูตไปต่างประเทศเป็นรูปแรก เสด็จไปเป็นประธานสงฆ์ในพิธีเปิดวัดไทยแห่งแรกในทวีปยุโรป คือวัดพุทธปทีป ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ทรงนำพระพุทธศาสนาเถรวาทไปสู่ ทวีปออสเตรเลียเป็นครั้งแรก โดยการสร้างวัดพุทธรังษีขึ้น ณ นครซิดนีย์ ทรงให้กำเนิดคณะสงฆ์ เถรวาทขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย ทรงช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศเนปาล โดยเสด็จไป ให้การบรรพชาแก่ศากยกุลบุตรในประเทศเนปาลเป็นครั้งแรก ทำให้ประเพณีการบวชฟื้นตัวขึ้นอีก ครั้งหนึ่งในเนปาลยุคปัจจุบัน ทรงอุปถัมภ์การสร้างวัดแคโรไลนาพุทธจักรวนาราม สหรัฐอเมริกา ทรงเจริญศาสนไมตรีกับองค์ดาไลลามะ กระทั่งเป็นที่ทรงคุ้นเคยและได้วิสาสะกันหลายครั้ง และทรงเป็นพระประมุขแห่ง ศาสนจักรพระองค์แรกที่ได้รับทูลเชิญให้เสด็จเยือนสาธารณรัฐ ประชาชนจีนอย่างเป็นทางการในประวัติศาสตร์จีน
เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ทรงเป็นนักวิชาการและนักวิเคราะห์ธรรมตามหลักการของพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า ธัมมวิจยะ เพื่อแสดงให้เห็นว่า พุทธธรรมนั้นสามารถประยุกต์ใช้กับกิจกรรมของชีวิตได้ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับสูงสุด ทรงมีผลงานด้านพระนิพนธ์ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษจำนวนกว่า ๒๐๐ เรื่อง ประกอบด้วยพระนิพนธ์แสดงคำสอนทางพระพุทธศาสนาทั้งระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง รวมถึงความเรียงเชิงศาสนคดีอีกจำนวนมาก ซึ่งล้วนมีคุณค่าควรแก่การศึกษา สถาบันการศึกษาของชาติหลายแห่งตระหนักถึงพระปรีชาสามารถและคุณค่าแห่งงานพระนิพนธ์ ตลอดถึงพระกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติ จึงได้ทูลถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เป็นการเทิดพระเกียรติหลายสาขา รวม ๑๓ มหาวิทยาลัย
นอกจากพระกรณียกิจตามหน้าที่ตำแหน่งแล้ว ยังได้ทรงปฏิบัติหน้าที่พิเศษ อันมีความสำคัญยิ่ง อีกหลายวาระ กล่าวคือ ทรงเป็นพระอภิบาลในพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เมื่อครั้งทรงพระผนวช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ พร้อมทั้งทรงถวายความรู้ในพระธรรมวินัย ตลอดระยะเวลา แห่งการทรงพระผนวช ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อครั้งทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑
เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ไม่เพียงแต่สร้างศาสนธรรม คือคำสอนมอบไว้เป็นมรดกธรรม แก่พุทธศาสนิกชนและแก่โลกเท่านั้น แต่ยังได้ทรงสร้างวัตถุธรรมอันนำสุขประโยชน์สู่ประชาชนทั่วไป มอบไว้เป็นมรดกของแผ่นดินอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ วัดญาณสังวราราม ชลบุรี วัดรัชดาภิเษก กาญจนบุรี วัดวังพุไทร เพชรบุรี วัดล้านนาญาณสังวราราม เชียงใหม่ พระบรมธาตุเจดีย์ ศรีนครินทราสถิตมหาสันติคีรี เชียงราย โรงพยาบาลสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต กาญจนบุรี ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ในโรงพยาบาลและโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ๑๙ แห่ง โรงพยาบาล สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๙ ท่าม่วง กาญจนบุรี ตึกวชิรญาณวงศ์, ตึกวชิรญาณ-สามัคคีพยาบาร, ตึก ภปร ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงเรียนสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต กาญจนบุรี และวัดไทย ในต่างประเทศอีกหลายแห่ง
เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ทรงดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญทางการคณะสงฆ์ในด้าน ต่าง ๆ มาเป็นลำดับ เป็นเหตุให้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเป็นประโยชน์แก่พระศาสนา ประเทศชาติและ ประชาชนเป็นอเนกประการ นับได้ว่าทรงเป็นพระมหาเถระที่ทรงเพียบพร้อมด้วยอัตตสมบัติและ ปรหิตปฏิบัติ และทรงเป็นครุฐานียบุคคลของชาติ ทั้งในด้านพุทธจักรและอาณาจักร
เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ทรงเป็นที่เคารพสักการะตลอดไปถึงพุทธศาสนิกชนในนานา ประเทศ ด้วยเหตุนี้ ทางรัฐบาล สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ จึงได้ทูลถวายตำแหน่ง อภิธชมหารัฐคุรุ อันเป็นสมณศักดิ์ สูงสุดแห่งคณะสงฆ์เมียนมาร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ และที่ประชุมผู้นำ สูงสุดแห่งพุทธศาสนาโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๕ ได้ทูลถวายตำแหน่งพระประมุขสูงสุด แห่งพระพุทธ ศาสนาโลก
ถึง พ.ศ. ๒๕๔๓ พระสุขภาพของเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวรถดถอยลง เนื่องจาก ทรงเจริญพระชนมายุมากขึ้น ไม่อำนวยให้ทรงปฏิบัติพระศาสนกิจต่าง ๆ ได้โดยสะดวก จึงเสด็จ เข้าประทับรักษาพระองค์ ณ ตึกวชิรญาณ-สามัคคีพยาบาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ในช่วงแรก ๆ ยังเสด็จกลับไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็น ระยะ ๆ ครั้งละ ๓ – ๔ วัน และเสด็จไปสดับพระปาติโมกข์ ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร ทุกวัน ธรรมสวนะ เดือนเพ็ญและเดือนดับ กระทั่งพระสุขภาพไม่อำนวย คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา พยาบาลจึงกราบทูลให้งดการเสด็จไปสดับพระปาติโมกข์ดังกล่าว ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้นมา
ถึงวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ พระอาการประชวรโดยทั่วไปทรุดลง คณะแพทย์จึงได้ถวายการผ่าตัดพระอันตะ (ลำไส้) และพระอันตคุณ (ลำไส้น้อย) หลังการผ่าตัด ทรงมีพระอาการทั่วไปเป็นที่พอใจของคณะแพทย์ ถึงวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เริ่มมีพระ อาการความดันพระโลหิตลดลง แต่มีการกระเตื้องขึ้นเป็นระยะๆ กระทั่งถึงวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ความดัน พระโลหิตลดลงถึง ๒๐ และคงตัวอยู่ระยะหนึ่ง ถึงเวลา ๑๙.๓๐ น. ความดัน พระโลหิตลงถึง ๐ ในทันทีทันใด
คณะแพทย์ได้ออกแถลงการณ์ในเวลาต่อมาว่า เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระ สังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์ด้วยการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลา ๑๙.๓๐ น. สิริพระชนมายุได้ ๑๐๐ พรรษากับ ๒๑ วัน
วันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้เชิญพระศพจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ไปยังพระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปถวาย น้ำสรงพระศพ ณ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร แล้วเชิญพระศพประดิษฐานในพระ โกศกุดั่นใหญ่ ภายใต้เศวตฉัตร ๓ ชั้น บนพระแท่นแว่นฟ้าปิดทองประดับกระจกแวดล้อมด้วย ฉัตรเครื่องสูง ๓ คู่ ประดับพุ่มตาดทองดอกไม้แจกัน และเทียนไฟฟ้ารายรอบพระโกศบน พระแท่นแว่นฟ้าทั้งสองชั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ถวายพระศพ ทั้งกลางวันและกลางคืน พร้อมทั้งมีประโคมย่ำยามถวายพระศพ เป็นเวลา ๗ วัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวาร (๓๐ – ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๖) ปัญญาสมวาร (๑๑ – ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๖) และสตมวาร (๓๐ – ๓๑ มกราคม ๒๕๕๗) ถวาย พระศพตามราชประเพณีโดยลำดับ
นับแต่ได้เชิญพระศพประดิษฐาน ณ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นต้นมา ได้มีพระบรมวงศานุวงศ์ คณะรัฐบาล ผู้นำประเทศ ทูตานุทูตประเทศต่าง ๆ และองค์กรศาสนา พร้อมทั้งพุทธศาสนิกชน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ มาถวายสักการะ เคารพพระศพอย่างเนืองแน่นอย่างมิเคยปรากฏมาก่อน อาทิ คณะทูตานุทูตกว่า ๒๓ ประเทศ มาร่วมในการบำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวาร (๗ วัน) ในวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ การบำเพ็ญ พระราชกุศลปัญญาสมวาร (๕๐ วัน) วันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ และการบำเพ็ญ พระราชกุศลสตมวาร (๑๐๐ วัน) วันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗ พระราชทานพระศพ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ
วันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖ สำนักวาติกันโดยสภาประมุขบาทหลวง โรมันคาธอลิก แห่งประเทศไทย ได้ประกอบพิธีมิสซาถวายพระกุศลแด่พระศพเจ้าพระคุณสมเด็จฯ
วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖ คณะสงฆ์แห่งนิกายเนนบุตซึสุ แห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ประกอบพิธีสวดถวายพระกุศลแด่พระศพเจ้าพระคุณสมเด็จฯ
วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖ ฯพณฯ เชอร์ริง ต็อปเกย์ นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศภูฏาน พร้อมด้วยภริยาและคณะได้มาถวายสักการะเคารพพระศพเจ้าพระคุณสมเด็จฯ
วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย พร้อมด้วยคณะสงฆ์จีน ได้ประกอบพิธีกงเต็กน้อมถวายพระกุศลแด่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ
วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗ คณะศิลปินในสาขาต่างๆ จัดถวายศิลปะบรรณาการ สตมวารสมโภช ปูชนียคีตา ครบร้อยหนึ่งวัน การพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ด้วยการขับขานและศิลปะการแสดงต่างๆ เป็นประหนึ่งเครื่องบรรณาการ
วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๗ พระมหาคณานัมธรรมปัญญาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่อนัมนิกาย พร้อมด้วยคณะสงฆ์อนัมนิกาย ได้ประกอบพิธีกงเต็กน้อมถวายพระกุศลแด่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ
วันที่ ๑๗ – ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ รัฐบาลอินเดีย โดยรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศอินเดีย และ ฯพณฯ เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ได้ประกอบพิธีวัชรยานบูชา ถวายพระกุศลแด่พระศพเจ้าพระคุณสมเด็จฯ อย่างเต็มรูปแบบตามลัทธิวัชรยานแห่งทิเบต
วันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ คณะสังฆเถรวาทแห่งอินโดนีเซีย พร้อมด้วยพุทธ ศาสนิกชนอินโดนีเซียจำนวนกว่า ๑๐๐ คน ได้บำเพ็ญกุศลถวายพระศพเจ้าพระคุณสมเด็จฯ
วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ คณะรังษีสังวร และสภาวัฒนธรรมไทย – รามัญ ได้บำเพ็ญกุศล รามัญทักษณาบูชา ตามลัทธิธรรมเนียมมอญ ทูลถวายแด่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เนื่องในวาระครบรอบ ๒๕ ปีแห่งการโปรดเกล้าสถาปนา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
นอกจากนี้ ยังได้มีผู้นำองค์กรทางศาสนาในประเทศต่างๆ ส่งสารแสดงความอาลัย เนื่องใน การสิ้นพระชนม์ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ จำนวนมาก อาทิ องค์ดาไลลามะ พระสังฆราช พระสังฆนายก องค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรพุทธศาสนาจากนานาประเทศ
กล่าวได้ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงดำรงอยู่ในฐานะพระสังฆบิดรของพุทธบริษัททั่วโลกโดยแท้
ลุถึงวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ตรงกับวันคล้ายวันประสูติของเจ้าพระคุณ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ครบ ๑๐๑ ปี และวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ตรงกับวันสิ้นพระชนม์ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ครบ ๑ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์จัดงานบำเพ็ญกุศลถวายแด่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เนื่องใน ๒ วาระนี้ เรียกว่า “งานบำเพ็ญกุศลครบ ๑ ปี แห่งการ สิ้นพระชนม์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆ ปริณายก” ระหว่างวันที่ ๓ – ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ในการนี้ รัฐบาล ศิษยานุศิษย์ และพุทธศาสนิกชน ได้ร่วมโดยเสด็จพระราชกุศล โดยมี ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีการจัดกิจกรรม “บุปผาวิธานบูชา” ให้ประชาชนร่วมปักดอกบานไม่รู้โรย บนพระรูปเจ้าพระคุณ สมเด็จ ฯ กิจกรรม “ปฏิบัติธรรมสังฆราชบูชา ครบ ๑ ปีแห่งการสิ้นพระชนม์” พระธรรมเทศนา และปฏิบัติธรรม โดยการนำของพระวิปัสสนาจารย์สายกรรมฐาน กิจกรรมการอ่านบทเสภาและ บทกลอนในพระ นิพนธ์ของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ที่พระองค์ได้ทรงนิพนธ์ไว้ การแสดง ดนตรีเพลง ของกลุ่มศิลปิน เป็นคีตัญชลีบูชา เพื่อรำลึกถึงเจ้าพระคุณสมเด็จฯ นิทรรศการ “สัมพัจฉรานุสรณ์ ครบ ๑ ปี แห่งการ สิ้นพระชนม์” นิทรรศการครั้งนี้ได้รวบรวมกิจกรรม ตลอดระยะเวลา ๑ ปีแห่งการสิ้นพระชมน์ เปิดตัว ภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง “เมืองนิรมิต แห่ง จิตตนคร” และหนังสือการ์ตูนแจกแก่ผู้เข้าชมมีพิธีมอบทุน ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลี แก่สำนักศาสนศึกษาทั่วประเทศที่มีการจัดการ ศึกษาดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๗
วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ที่ประชุมสุดยอดชาวพุทธโลก ประกอบด้วยพระราชาธิบดี ผู้นำทางการเมือง ผู้นำทางพระพุทธศาสนาและบุคคลสำคัญของโลกจาก ๔๑ ประเทศ ได้ร่วม ประกอบพิธีสวดมนต์ถวายพระกุศล และเทิดพระเกียรติแด่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ฯ พระ ประมุขสูงสุดแห่งพุทธศาสนาโลก ณ วิหารแห่งวัดเนนบุตซึสุ เมืองกาโต จังหวัดคิวโงะ ประเทศญี่ปุ่น
ถึงวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นวันตรงกับวันสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และเป็นวันที่เจ้าพระคุณ สมเด็จพระญาณสังวร ฯ สิ้นพระชนม์ครบ ๑ ปีกับ ๑๒๑ วัน วัดบวรนิเวศวิหาร ได้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลถวายและ จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ โดยมีพระพิธีธรรม สวดพระอภิธรรม ในเวลา ๑๙.๐๐ น. จบแล้ว คณะนักเรียนโรงเรียน ถนอมพิศวิทยา แขวงวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร แสดงมโนราถวายหน้าพระศพจบแล้วสำนักการสังคีต กรมศิลปากร แสดงโขน รามเกียรติ์ ตอนพาลีสอนน้อง ถวายหน้าพระศพ
ในระหว่างนี้ได้มีองค์กร คณะบุคคลและคณะสงฆ์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศมาร่วม เป็นเจ้าภาพ บำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมถวายพระศพโดยตลอด
ครั้นวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน แทนพระองค์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ประธานที่ ปรึกษาการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระ สังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในการประชุม คณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการกำหนดวันพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จ พระญาณสังวร เป็นวันที่ ๑๕ – ๑๖ – ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ณ พระเมรุหลวงวัดเทพศิรินทราวาส
วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ อันเป็นวาระคล้ายวันประสูติปีที่ ๑๐๒ ปี ของเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณ สังวรฯ ได้มีการจัดบำเพ็ญกุศลถวายเป็นพิเศษ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์
วันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นวาระสิ้นพระชนม์ครบ ๒ ปี ของเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ในการบำเพ็ญกุศลครบ ๒ ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ ณ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหารพร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ ไปทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระรูปเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ณ ลานพระอุโบสถคณะรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร
วันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ในการบำเพ็ญกุศลครบ ๒ ปีแห่งการสิ้นพระชนม์ ณ พระตำหนักเพ็ชร โดยมี ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี
วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ คณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระศพสมเด็จพระญาณสังวรฯ ได้ประชุม ณ ตึกสันติไมตรี หลังใน ทำเนียบรัฐบาล โดยมี ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุม ได้รับทราบหมายกำหนดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ
วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนชั้นเครื่องเกียรติยศประกอบพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) จากพระโกศกุดั่นใหญ่ เป็นพระโกศทองน้อย มีฉัตรตาดเหลือง ๕ ชั้น แขวนเหนือพระโกศ เป็นการพระราชทานเกียรติยศเป็นกรณีพิเศษ ในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศ และบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์อย่างสมเด็จพระสังฆราชในอดีต ด้วยทรงดำรงอยู่ในครุฐานียะ เป็นที่ตั้งแห่งพระราชศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนประชาชนทุกหมู่เหล่ามาโดยตลอดพระชนม์ชีพ
วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ พระราชกุศลออกพระเมรุ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร
วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ พระราชทานเพลิงพระศพ เชิญพระโกศพระศพสู่พระเมรุ พระราชทานเพลิง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส โดยได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ถึง ๓ ครั้ง คือ เวลา ๑๖.๓๐ น. พระราชทานเพลิงพระศพ เวลา ๒๐.๐๐ น. การพระราชทานเพลิงจริง และได้เสด็จอีกครั้งหนึ่งเวลา ๒๒.๐๐ น. ทรงทอดผ้าไตร ๓ ไตร สดับปกรณ์กองฟอน
วันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เก็บพระอัฐิ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส เก็บพระอัฐิ เลี้ยงพระสามหาบ เชิญพระอัฐิและพระสรีรางคารจากพระเมรุวัดเทพศิรินทราวาสไปยังพระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร
วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เปิดให้พุทธศาสนิกชนเข้าถวายสักการะพระอัฐิ วัดบวรนิเวศวิหารได้อัญเชิญพระอัฐิออกประดิษฐานบนพระแท่นบังลังก์ ณ พระตำหนักเพ็ชรให้ประชาชน ได้ถวายสักการะ
วันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ งานพระราชกุศลพระอัฐิ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร
วันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ บรรจุพระสรีรางคาร พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ พระวิหารเก๋ง วัดบวรนิเวศวิหาร
หลังงานพระราชกุศลพระอัฐิและบรรจุพระสรีรางคารแล้ว ได้อัญเชิญพระโกศพระอัฐิไปประดิษฐานที่ วัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี วัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี วัดเมนดุต มุงกิต เมกาลัง ชวากลาง ประเทศอินโดนีเซีย และวัดเนนบุตซึสุ เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนจากจาตุรทิศสืบไป
สถาปนาพระอัฐิเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ เลื่อนพระอิสริยยศพระราชอุปัธยาจารย์และพระราชกรรมวาจาจารย์ ในพระองค์ให้สูงขึ้น อันเป็นการทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ ตามโบราณราชประเพณี ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสถาปนาพระอัฐิ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระราชกรรมวาจาจารย์ในพระองค์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร การที่ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาพระอัฐิสมเด็จพระสังฆราชขึ้นเป็น “สมเด็จพระ สังฆราชเจ้า กรมหลวง” นั้น นับว่าเป็นเหตุการณ์พิเศษในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย เพราะไม่เคยมีอย่างมาแต่ก่อน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณใหญ่หลวงต่อคณะสงฆ์ไทย และเป็นสิ่งแสดงถึงพระราชหฤทัย ที่มุ่งมั่นยอยกพระพุทธศาสนา และเทิดทูนคณะสงฆ์ให้ดำรงคงอยู่เป็นที่สักการบูชาอันบริสุทธิ์ของปวงพุทธศาสนิกชนสืบไปตลอดกาล
วันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ อัญเชิญพระอัฐิไปประดิษฐานในหอพระนาก ครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า สถาปนาพระอัฐิขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงาน จัดฉัตรตาดเหลือง ๕ ชั้น ถวายกางกั้นพระรูปบรรจุพระสรีรางคาร ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แบ่งพระอัฐิบรรจุลงพระโกศทองคำ และอัญเชิญไปประดิษฐานในหอพระนาก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรม มหาราชวัง เพื่อเป็นที่ทรงสักการะบูชาและทรงบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในฐานะพระบุพการีทางธรรม